ค้นหาเพิ่มเติม

Custom Search

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คิดยังไงกับธุรกิจMLM

ปัจจุบัน การทำงานผ่านเน็ต เห็นจะมีธุรกิจขายตรง หรือธุรกิจเครือข่าย หรือที่เรารู้จักกันในามธุรกิจMLM โฆษณาผ่านสายตาเราในโลก internet อยู่มากมายซึ่งก็มีหลายค่าย หลายบริษัท หลายผลิตภัณฑ์ เปิดตัวออกมาอยู่เรื่อยๆ

สำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจประเภทนี้ ก็ควรที่จะศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนจะเลือกMLMแบบไหนดี ควรจะศึกษาผลิตภัณฑ์นั้นๆให้ดีก่อน บริษัทน่าเชื่อถือรึเปล่า สคบ.รองรับหรือไม่ ดูความเป็นไปได้และแนวโน้มของตลาดMLM ว่าคนเรามักจะบริโภคอะไร

แต่ก็มีอยู่ไม่น้อย ที่คนมักจะมีอคติต่อธุรกิจประเภทนี้ ก็เนื่องจากเป็นธุรกิจ ที่ต้องหาคนมาต่อเป็นลูกทีม ต่อกันไปเรื่อยๆจนเป็นเครือข่าย ตามลำดับชั้นแต่หากเปิดใจยอมรับซักนิด นั่นก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพ สำหรับคนที่ต้องการรายได้เสริม เพราะว่าไหนๆก็ต้องซื้อของที่จำเป็นมาไว้ใช้ดำรงชีวิตอยู่แล้ว หากจะซื้อใช้เองแล้วก็แนะนำคนอื่นๆ มาแจมด้วย ก็คงจะดีไม่น้อย แต่การลงทุนนั้น ก็มีตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น ตามแต่จะเลือกว่าต้องการเปิดกี่ระหัส เปิดระดับใด

สำหรับผลิตภัณฑ์นั้น ก็มีทั้งอาหารเสริม ของใช้ในครัวเรือนเช่น ผงซักฟอก สบู่ เจลล้างหน้า ของกิน ของใช้ เครื่องสำอางค์ เสื้อผ้า และอีกมากมายสารพัด เพราะการแข่งขันธุรกิจประเภทนี้สูงมาก บริษัทเปิดใหม่อยู่เรื่อยๆ ใครมาก่อนก็ชิงความเป็นต้นสายก่อน ใครมาทีหลังก็ต้องเหนื่อยหน่อย..555+

สุดท้ายนี้ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ว่าคิดยังไงกับธุรกิจMLM ประเภทนี้ ........ต่างคนต่างความคิด ของฟรีไม่มีในโลก ของดีไม่มีถูก ของถูกมีดีก็เยอะ...................จบ

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ความแตกต่างของการแชลูกโซ่ กับ ธุรกิจเครือข่าย หรือ ธุรกิจขายตรงหลายชั้น(MLM)

ธุรกิจMLM หรือ ธุรกิจเครือข่าย นั้นมีความคลายคลึงกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ตรงที่มันเป็นการหาคนมาต่อสายงาน อย่างที่หลายๆคนเข้าใจ แต่ความจริงเป็นอย่างไร เราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแชร์ลูกโซ่ ดีกว่า

แชร์ลูกโซ่คืออะไร…?
แชร์ลูกโซ่ หมายถึง รูปแบบการดำเนินธุรกรรมที่มุ่งประสงค์เพื่อหารายได้จากการระดมทุนเป็นหลัก โดยมีการสัญญาในการเข้าร่วมธุรกิจที่จะตอบแทนผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สูงกว่าเงินลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการมักจะอ้างถึงการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป เพื่อปันรายได้แจกจ่ายผู้เข้าร่วมธุรกิจอย่างทั่วถึง แต่ผลของมัน คือ การที่ตอบแทนผลประโยชน์ในช่วงต้น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมธุรกิจต่อเนื่องจนเมื่อถึงจุดที่ผู้ประกอบการหวังผลในการระดมทุนสำเร็จแล้ว ก็จะหาทางปิดตัวไปเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายผลประโยชน์ต่อ ๆ ไป หรืออาจจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าฐานที่เข้ามาหรือผู้เข้าร่วมธุรกิจที่เข้ามาในช่วงหลังจะไม่สามารถหมุนเวียนเงินตอบแทนได้กับคนที่มาก่อนได้ ก็จะเริ่มปิดตัวลง

ลักษณะและวิธีการดำเนินงาน
การหาสมาชิก และการจ่ายผลประโยชน์ ส่วนใหญ่วิธีการดำเนินงานของแชร์ลูกโซ่จะเริ่มจากวงแคบ ๆ จากเพื่อนคนใกล้ชิดแล้วค่อย ๆ ขยายตัวไปรอบนอก จนถึงขั้นควบคุมไม่ได้ เพราะจะเริ่มออกสู่วงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ การหาสมาชิกก็จะใช้วิธีสร้างภาพลวง หว่านล้อมให้เกิดความเชื่อและการจ่ายผลประโยชน์กับสมาชิกระดับต้น ๆ หรือใกล้ชิดเป็นส่วนใหญ่ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ อีกข้อหนึ่ง คือ สมาชิกเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นคนสนิทของกลุ่มผู้ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่อยู่แล้ว ย่อมมีผลประโยชน์คาบเกี่ยวกันมากมาย ดังนั้น จึงสามารถที่จะสร้างภาพลวงร่วมกันได้ สุดท้ายเมื่อได้ระดมทุนตามประสงค์แล้วก็จะปิดตัวลง ซึ่งสมาชิกระดับใกล้ชิดก็จะไม่เสียประโยชน์ใด ๆ ส่วนแมลงเม่าที่บินมาภายหลังส่วนใหญ่จะเป็นผู้เสียหาย และตามตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้ เพราะหายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว ครั้นจะมาหาข้อมูลจากสมาชิกระดับผู้นำก็เปล่าประโยชน์ เพราะได้ปิดปากตัวเองแล้วจากผลประโยชน์ที่คาบเกี่ยวกันกับเจ้าของแชร์ลูกโซ่
ที่มา:soodyodshop

รูปแบบธุรกิจเครือข่าย หรือ ธุรกิจMLM

1. การหาสมาชิกและการดำเนินงานทั่วไปของธุรกิจขายตรงหลายชั้น (MLM)
ลักษณะการหาสมาชิกของธุรกิจ MLM การหาสมาชิกจะเริ่มจากการแนะนำสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยจะแนะนำให้ผู้มุ่งหวังได้ทดลองใช้สินค้าหรือซื้อสินค้าไปใช้ก่อน เช่น อาจจะซื้อสินค้าจากผู้แนะนำหรือสมัครเป็นสมาชิกเพื่อซื้อสินค้าในรหัสของตัวเองเลยก็ได้ หลังจากซื้อสินค้ามาใช้เองแล้ว ถ้าเกิดใช้แล้วชอบประทับใจในตัวสินค้าก็จะซื้ออีกเป็นครั้งที่สอง หรือถ้าไปแนะนำให้คนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นญาติ, เพื่อน หรือคนรู้จักได้ใช้สินค้าเหมือนกันกับที่ตัวเองใช้อยู่ก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากทางบริษัท เรียกว่า "ค่าคอมมิสชั่น" หรืออาจจะเรียกวิธีการหาสมาชิกของธุรกิจ MLM ง่าย ๆ ว่า "ใช้ดีแล้วบอกต่อ" ซึ่งนั่นหมายถึง ตัวสินค้าต้องเป็นสินค้าที่ดีและมีคุณภาพจริง ๆ ตัวสินค้าต้องสามารถขายตัวมันเองได้ และที่สำคัญสินค้าต้องราคายุติธรรมสมกับคุณภาพจึงจะสามารถหาสมาชิกได้ง่าย อีกทั้งค่าสมัครเป็นสมาชิกของธุรกิจ MLM จะไม่แพงจนเกินไป คนทุกระดับสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ เพราะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ MLM ไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุผลที่จะให้คนที่อยากจะซื้อสินค้ากับทางบริษัทต้องเสียเงินค่าสมัครแพง ๆ เพราะบริษัท MLM มีความต้องการที่จะขายสินค้ามากกว่าที่จะหากำไรจากค่าสมัครสมาชิก จะสังเกตเห็นได้ว่าการเป็นสมาชิกของธุรกิจขายตรงจะไม่ยุ่งยาก วุ่นวาย จะไม่มีการแนะนำให้คนที่จะเป็นสมาชิกต้องนำเงินมาลงทุนครั้งละมาก ๆ หรือไม่มีการแนะนำให้ผู้มุ่งหวังไปกู้เงิน ยืมเงิน เพื่อมาสมัครเป็นสมาชิก เพราะนั่นแสดงว่าบริษัทที่ทำอย่างนี้มีเจตนาที่จะระดมทุนหรือระดมเงิน เพื่อนำมาหมุนเวียนภายในบริษัท และนำเงินของสมาชิกใหม่มาจ่ายให้กับสมาชิกเก่าซึ่งผู้ที่เข้าสู่บริษัทลักษณะนี้มีอัตราการเสี่ยงสูงมาก เพราะอาจจะไม่ได้เงินคืน หรืออาจถูกหลอกลวงได้ง่าย และในที่สุดก็จะหาสมาชิกไม่ได้เลย

2. การดำเนินงานโดยทั่วไปของ MLM
คนที่อยากจะมีรายได้จากธุรกิจ MLM จะเน้นเอากำไรจากการขายแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องรู้จักการหาคนเพื่อเข้ามาเป็นสมาชิกในทีมงานของตนเองด้วยเพื่อที่จะได้มีรายได้ที่ต่อเนื่องและมั่นคง คนที่เข้าสู่ธุรกิจ MLM จะมีอยู่หลายกลุ่มหลายประเภท บางคนเข้ามาเพื่อเป็นเพียงผู้บริโภค เพื่อซื้อสินค้าใช้ บางคนเข้ามาเพื่อทำเป็นงานอดิเรกมีรายได้เสริมบ้างเล็กน้อย หรือบางคนเข้ามาเพื่อตั้งใจทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจังเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งเมื่อเข้าสู่ธุรกิจ MLM แล้ว การดำเนินงานพอจะอธิบายได้โดยสังเขป ดังนี้ 1. การขาย คนที่เข้าสู่ธุรกิจขายตรงหลายชั้นหรือ MLM คงจะต้องเริ่มจากการขายหรือแนะนำตัวสินค้าให้ได้เสียก่อน เพราะถือเป็นการเปิดประตูด่านแรกที่จะทำให้คนได้รู้จักกับบริษัทและได้รู้จักกับธุรกิจ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกของธุรกิจขายตรงจะต้องพยายามศึกษาข้อมูล และลักษณะเด่นต่าง ๆ ของสินค้า เพื่อที่จะแนะนำได้อย่างถูกต้อง โดยยึดหลักจรรยาบรรณที่ว่า ไม่ต้องพูดโอ้อวดสรรพคุณของสินค้าเกินความเป็นจริง แต่คนที่อยากจะมีรายได้จากธุรกิจ MLM จะเน้นเอากำไรจากการขายแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องรู้จักการหาคนเพื่อเข้ามาเป็นสมาชิกในทีมงานของตนเองด้วย เพื่อที่จะได้มีรายได้ที่ต่อเนื่องและมั่นคง 2. การขยายทีมงาน การขยายทีมงานหรือการชวนคนถือเป็นงานที่ต้องทำมากที่สุดเพราะธุรกิจ MLM รายได้ที่แท้จริง จะอยู่ที่การแนะนำคนให้ใช้สินค้าและสมัครเป็นสมาชิก เพราะฉะนั้นคนที่เข้าสู่ธุรกิจ MLM จะต้องพยายามชวนคนเข้าร่วมธุรกิจให้ได้มากที่สุดและแนะนำคนที่สมัครเป็นสมาชิกได้ใช้สินค้า เพื่อที่ว่าหากใช้สินค้าแล้วชอบก็จะสามารถซื้อใช้เองได้ในรหัสของตัวเอง และเมื่อไปแนะนำคนอื่น ๆ ให้ได้ใช้สินค้าตนเองก็จะมีรายได้ ธุรกิจนี้จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3. การบริหารสมาชิกในทีมงาน ต้องรู้จักพัฒนาศักยภาพของตนเองและของสมาชิกในทีมงานด้วย การพาสมาชิกเข้าประชุมเข้าร่วมอบรมกับทางบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจในตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ และรู้ถึงวิธีการที่นำพาทีมงานให้ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญต้องดูแลให้ทีมงานเกิดความรัก ความสามัคคี และมีความสุข มีรายได้ที่ดีจากการเข้าสู่ธุรกิจ MLM

3. สินค้าในระบบขายตรง
โดยปกติสินค้าในระบบขายตรงที่ดีจะแยกแยะได้ชัดเจนจากธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีสินค้าเป็นเพียงเครื่องมือในการระดมเงิน โดยสินค้าในธุรกิจหลอกลวงดังกล่าว มีลักษณะ
1. สรรพคุณของสินค้าจะเกินจริง ส่วนใหญ่แล้วสินค้าในกลุ่มที่สรรพคุณเกินจริง และขายได้ในราคาที่สูงมักจะใช้หมวดหมู่ของอาหารเพื่อสุขภาพเป็นเครื่องบังหน้า หรือมีบางส่วนเป็นเครื่องสำอาง เครื่องใช้เพื่อสุขภาพ มักกล่าวอ้างว่า บำบัดรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นโรครุนแรงเรื้อรัง วงการแพทย์ยังรักษาให้หายขาดไม่ได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ เบาหวาน อัมพาต อัมพฤกษ์ ลดน้ำหนักโดยไม่ต้องควบคุมอาหาร และตั้งราคาที่สูงจากสรรพคุณนั้น ๆ ได้
2. ต้นทุนกับราคาปลายทางไม่สมเหตุสมผล เช่น ต้นทุน 10 บาท ขาย 2,000 บาท ต้นทุน 100 บาท ขาย 3,000 บาท เป็นต้น เพราะธุรกิจเหล่านี้จะไม่ต้องการให้ลูกค้าคนเดิมมีการซื้อซ้ำในสินค้าตัวเดิม ต้องการใช้ซื้อเพียงครั้งแรกเท่านั้น เมื่อสรรพคุณไม่สมราคา ลูกค้าหรือผู้ได้ร่วมธุรกิจ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 มีความชัดเจนในธุรกิจประเภทนี้ดี รับรู้แต่แรกว่าสินค้าเป็นเพียงเครื่องมือตั้งล่อเพื่อนำเงินมาต่อเงินเท่านั้น
กลุ่มที่ 2 เกิดความหลงผิด เชื่อว่าสรรพคุณของสินค้าเป็นเช่นนั้นจริง แต่เมื่อซื้อไปแล้วความเสียดายเงินบวกกับความโลภ จะทำให้ต้องตกกระไดพลอยโจนดำเนินธุรกิจต่อด้วยการไปหลอกคนอื่นให้เสียรู้ในลักษณะเดียวกัน

แผนการจ่ายค่าตอบแทน MLM

แผนการจ่ายค่าตอบแทน MLM หรือที่เรียกว่า Compensation Plan หรือที่นิยมเรียกกันว่า แผนการตลาดขายตรง ถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จ ความล้มเหลว การเติบโตและความยั่งยืนของบริษัท MLM โดยทั่วไป ระบบขายตรงหลายชั้น หรือระบบ MLM นั้นมีลักษณะที่สำคัญซึ่งทำให้ระบบเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็คือ การที่ผู้จำหน่ายอิสระได้รับค่าตอบแทนจากยอดขายโดยตรงของตนเองแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับค่าตอบแทน หรือที่เรียกว่า Override จากยอดขายของผู้จำหน่ายอิสระที่ตนเองได้แนะนำให้เข้าร่วมธุรกิจและผู้จำหน่ายอิสระที่เป็นดาวน์ไลน์ต่อๆลงไปด้วย จุดนี้นี่เองที่เป็นการเปลี่ยนแนวความคิดจากการที่ผู้จำหน่ายอิสระจะต้องแย่งกันขายให้แก่ลูกค้า มาเป็นการช่วยกันขายเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างอัพไลน์และดาวน์ไลน์ และยังช่วยกันแนะนำให้ลูกค้าที่ใช้สินค้าเข้ามาร่วมธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายอิสระต่อในสายงานของตนต่อไปอีกด้วย

วัตถุประสงค์หลักของแผนการจ่ายค่าตอบแทนก็เพื่อใช้เป็นนโยบายในการจ่ายค่าตอบแทนอย่างยุติธรรมให้แก่ผู้จำหน่ายอิสระ สมาชิกหรือบุคคลใดที่ได้ดำเนินกิจกรรมที่ทำให้เกิดยอดขาย และก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของบริษัท MLM และการขยายเครือข่ายผู้จำหน่ายอิสระ โดยที่กิจกรรมที่ได้กล่าวแล้วนั้นจะเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนแก่บริษัทและเครือข่ายผู้จำหน่ายอิสระอย่างสมดุลและยุติธรรม

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับแผนการจ่ายค่าตอบแทน ผู้คนอาจจะอยากทราบว่าแผนแบบใดเป็นแผนที่ดีที่สุด คำตอบก็คงเป็นคำตอบที่ตอบยากที่สุดเช่นกัน เพราะแต่ละแผนก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี ลักษณะหรือรูปแบบของแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่สามารถสังเกตได้จากแผนต่างๆที่พิจารณาแล้วว่าประสบความสำเร็จ สามารถนำมาสรุปเป็นหลักการกว้างๆที่เป็นปัจจัยหลักๆที่เป็นองค์ประกอบของแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบถึงหลักการในการวิเคราะห์แผนการจ่ายค่าตอบแทนที่จะนำท่านไปสู่ความสำเร็จได้

เป้าหมายหลักของแผนการจ่ายค่าตอบแทนคือการจ่ายค่าตอบแทนให้กับการดำเนินกิจกรรมต่อไปนี้คือ 1) การขายสินค้าแก่ผู้บริโภค (Sell) 2) การสร้างเครือข่ายผู้จำหน่ายอิสระ (Recruit) 3) การสร้างผู้ฝึกอบรม (Build Trainers) 4) การสร้างนักบริหารการขาย (Build Top Sales Executives) 5) การรักษาให้ผู้จำหน่ายอิสระที่ดีให้อยู่กับบริษัทได้อย่างยั่งยืน (Keep Good Distributors)

การจ่ายค่าตอบแทนให้กับการขายสินค้าแก่ผู้บริโภค (Sell) เป็นการจ่ายค่าตอบแทนแก่กระบวนการหลักในการผลักดันสินค้าจากบริษัทไปสู่ผู้บริโภค หากไม่มีการขายสินค้าแล้ว ระบบ MLM ก็จะไม่เป็นระบบที่เหมาะสม (ควรตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ได้) โดยปกติกำไรจากการขายปลีกจะเป็น 25 % ของราคาขายปลีก หรือเป็น 33 % ของราคาขายส่ง หากสินค้าของท่านเป็นสินค้าที่มีสินค้าแข่งขันกันอยู่ในตลาด การตั้งราคาที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง การกำหนดราคาที่สูงมากๆทำได้ในกรณีที่สินค้าของท่านเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม ยังไม่มีสินค้าทดแทนหรือคู่แข่งอยู่ในตลาด อย่างไรก็ดี การบังคับให้ผู้จำหน่ายอิสระต้องซื้อสินค้าเก็บไว้จำนวนมากๆ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากผลต่างเพิ่มมากขึ้นนั้นทำได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล คือบริษัทต้องไม่บังคับให้ซื้อสินค้าที่ขายไม่ออก มิฉะนั้นโอกาสที่จะทำให้บริษัทไปไม่รอดก็จะสูงไปด้วย เพราะผู้จำหน่ายอิสระ ก็ขายของไม่ออกด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อผู้จำหน่ายอิสระขายของไม่ได้ บริษัทก็อยู่ยาก ดังนั้นบริษัทจึงควรจะจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกิจกรรมในการขายสินค้าแก่ผู้บริโภคอย่างเหมาะสม

การจ่ายค่าตอบแทนให้กับการสร้างเครือข่ายผู้จำหน่ายอิสระ (Recruit) เป็นการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกิจกรรมหัวใจหลักในการขยายจำนวนผู้จำหน่ายอิสระ หรือการขยายทีมงาน การจ่ายค่าตอบแทนทำได้โดยการจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายของกลุ่มหรือยอดทีมใต้สายงานลงไป เพราะถ้าผู้จำหน่ายอิสระสร้างทีมงานเพิ่มมากขึ้นยอดขายของกลุ่มหรือทีมงานใต้สายงานของเขาก็จะมากขึ้นด้วยส่งผลให้ยอดคอมมิชชั่นของผู้จำหน่ายอิสระคนนั้นมากขึ้นตามไปด้วย

การสปอนเซอร์ การแนะนำ การสร้างทีมงานหรือการบอกต่อนั้น ในระยะเริ่ม 7 วันแรกนั้นผู้ที่สมัครเข้ามาใหม่จะรู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสทางธุรกิจที่รออยู่ข้างหน้าอย่างมาก มีความกระตือรือร้นที่จะทำงานหรือหาสายงานเพิ่ม หากผู้สมัครเป็นผู้จำหน่ายอิสระใหม่สามารถสร้างทีมงานเพิ่มได้ในช่วงนี้ก็จะทำให้การสร้างทีมงานเติมโตอย่างมาก เพราะยังมีความรู้สึกที่ดีอยู่มาก

หากผ่านระยะเวลาไป 1 เดือนผู้สมัครเป็นผู้จำหน่ายอิสระใหม่ยังไม่สามารถสร้างสายงานของตัวเองได้ก็ยังคงมีความหวังอยู่บ้าง แม้จะไม่ตื่นเต้นเหมือนช่วงแรกแต่ก็ยังไม่หมดไฟ
หากผ่านระยะเวลาไป 2 เดือนหรือมากกว่า ผู้สมัครเป็นผู้จำหน่ายอิสระใหม่ยังไม่สามารถสร้างสายงานของตัวเองได้ ไปแนะนำใครก็ไม่มีใครสมัครเข้ามาเลย ความหวังก็คงริบหรี่เต็มที ถ้าไม่มีการกระตุ้นไฟก็คงหมด

ดังนั้นแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่ดีควรจ่ายให้แก่การแนะนำผู้จำหน่ายอิสระใหม่ๆให้ได้ในระยะที่เร็วที่สุดเพื่อให้สามารถรักษาความกระตือรือร้น และความสนใจในการสร้างสายงานของผู้จำหน่ายอิสระใหม่ให้มีความหวัง จึงเป็นการจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการแนะนะผู้แทนจำหน่ายอิสระรายใหม่ให้เร็วเมื่อเขาทำงานได้ตามเป้าหมายที่เป็นไปได้ (ไม่ยากจนเกินไป)ในระยะแรก เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถความเติมโตของทีมงานของเขา นั่นก็หมายความถึงการเติมโตของบริษัทด้วยเช่นกัน

การจ่ายค่าตอบแทนให้กับการสร้างผู้ฝึกอบรม (Build Trainers) การสร้างผู้ฝึกอบรมคือการสร้างผู้แทนจำหน่ายอิสระที่สามารถฝึกอบรมเทคนิคการขายและเทคนิคการแนะนำ สปอนเซอร์ที่ดีให้แก่ผู้จำหน่ายอิสระใหม่ที่สมัครเข้ามาร่วมธุรกิจ หรือเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้กับผู้จำหน่ายอิสระเก่าก็ได้ การเพิ่มความสามารถให้แก่ผู้แทนจำหน่ายอิสระเหล่านั้นให้สามารถทำงานซ้ำๆ โดยใช้เทคนิคที่เหมาะสมในการขยายสายงานและขายสินค้า เป็นการสร้างความเติบโตแก่ทีมงานโดยรวม

ดังนั้นการจ่ายค่าตอบแทนให้กับกิจกรรมการสร้างผู้ฝึกอบรมนั้น ควรจ่ายให้กับผู้แทนจำหน่ายจากยอดขายกลุ่มของเขาและจำนวนทีมงานที่เขาสามารถแนะนำเข้ามาใหม่ หรือทั้งสองอย่างก็ได้

การจ่ายค่าตอบแทนให้กับการสร้างนักบริหารการขาย (Build Top Sales Executives) เมื่อผู้แทนจำหน่ายที่เป็นลูกทีมนั้นสามารถสร้างสายงานและมีรายได้พอสมควรแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างให้ลูกทีมในสายงานเหล่านั้นเติบโตและสร้างสรรค์ผลงานให้ได้เต็มศักยภาพของพวกเขาโดยการสนับสนุนให้เขาเหล่านั้นเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก โดยการสอนเทคนิคการบริหารบุคคล บริหารทางการเงิน รวมถึงเทคนิคและแนวความคิดอื่นๆที่จำเป็นต่อการเติมโตขององค์กรด้วย การจ่ายค่าตอบแทนให้กับการสร้างผู้บริหารระดับสูงที่เก่ง มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจูงใจให้ผู้จำหน่ายอิสระที่เก่งๆพยายามถ่ายทอดความรู้ของพวกเขาไปยังผู้จำหน่ายอิสระที่เป็นลูกทีมของเขาอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีที่พบบ่อยๆ คือสร้างให้เก่งแล้วก็ไม่ได้อะไร หรือสร้างให้เก่งแล้วก็หลุดไป

การรักษาให้ผู้จำหน่ายอิสระที่ดีให้อยู่กับบริษัทได้อย่างยั่งยืน (Keep Good Distributors) เป็นกิจกรรมที่สำคัญมาก ความยั่งยืนปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ผู้จำหน่ายอิสระที่เก่งๆมองหา เพราะเขาเหล่านั้นรู้ว่ามันไม่สนุกนักในการต้องไปเริ่มต้นทำสายงานใหม่อยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าจะมีลูกทีมที่เชื่อมั่นในความสามารถของแม่ทีมเก่งๆเหล่านั้นอยู่ แต่การเริ่มต้นใหม่ก็ยังเหนื่อยอยู่ดี การรักษาผู้จำหน่ายอิสระให้ยั่งยืนอยู่กับบริษัทได้ ก็ขึ้นอยู่กับการจ่ายค่าตอบแทนที่ยุติธรรม เหมาะสม และสามารถจ่ายได้อย่างยั่งยืน ไม่จ่ายเกินที่กำหนด ไม่ Over-pay ดังนั้นระบบจึงควรมีการรองรับการจ่ายค่าตอบแทนที่ยั่งยืนไว้ตั้งแต่เริ่มต้นก็จะเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด

หลักการอื่นๆที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับแผนการจ่ายค่าตอบแทน คือ ความง่าย และการไม่เปลี่ยนแผนบ่อย ความง่ายของแผนการจ่ายค่าตอบแทน เป็นสิ่งที่ทำให้การสื่อสารในเรื่องแผนง่ายไปด้วย บางบริษัทที่ใช้แผนที่สลับซับซ้อนมากๆ บางครั้งดูดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่มักจะมีอะไรซ้อนอยู่ การอธิบายให้ผู้มุ่งหวังที่เราจะชัดชวนเข้ามาร่วมธุรกิจก็ทำได้ยาก จึงจำเป็นต้องใช้แผนที่ง่าย เข้าใจง่าย อธิบายง่าย ไม่ซับซ้อน จะดีกว่า

การเปลี่ยนแผนบ่อย ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้บริษัท MLM ดูไม่เป็นมืออาชีพ หรืออาจจะมองได้ว่าไม่ได้คิดให้รอบครอบมาก่อน ผู้แทนจำหน่ายอิสระหรือสมาชิกจะมีความรู้สึกไม่มั่นคง เพราะไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแผนอีกเมื่อไร แล้วจะกระทบกับผลประโยชน์ที่ควรจะได้หรือไม่ อันนี้เป็นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัท MLM ไม่ประสบความสำเร็จได้

แผนการจ่ายค่าตอบแทนมีลักษณะที่สำคัญ คือต้องมีทั้งความกว้างและความลึก ความกว้างนี้เป็นลักษณะของแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่ได้จากการขายสินค้าของผู้แทนจำหน่ายอิสระเองและการแนะนำผู้จำหน่ายอิสระใหม่ด้วยตัวเอง พูดง่ายๆว่าเป็นการขายเองและสปอนเซอร์ด้วยตัวเอง เป็นการขยายทีมงานในแนวกว้าง ซึ่งเป็นลักษณะของนักขาย

ความลึกเป็นลักษณะของแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่มีการการช่วยเหลือกัน และการสนับสนุนกันในทางลึกเพื่อทำให้เกิดรายได้จากยอดขายที่อยู่ลึกลงไปจากเรา และทำให้เกิดการช่วยเหลือกันทำงาน เป็นการสร้างผู้นำที่สามารถฝึกอบรมผู้แทนจำหน่ายอื่นๆ โดยการต่อสายงานให้กับลูกทีม แผนที่มีลักษณะแบบนี้คือแผนที่มีโครงสร้างองค์กรเป็นแบบจำกัดลูกทีมติดตัว หรือ Forced Matrix นั้นเอง ซึ่งทำให้เกิดการช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันทำให้เครือข่ายขยาย และเติบโตได้ดี เพราะระบบจำกัดจำนวนผู้ที่จะนำมาติดตัว จึงเป็นการบังคับให้ผู้แทนจำหน่ายที่เราแนะนำมาแล้วเมื่อมีลูกทีมติดตัวเกินจำนวนที่กำหนดเราต้องนำไปต่อให้กับลูกทีมของเราลงไปข้างล่าง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือลูกทีมเราไปในตัว

แผนการจ่ายค่าตอบแทนที่พบในตลาด MLM นั้นมีแบบหลักๆ คือ 1) แผนเมทริกซ์ (แผนเน็ตเวิร์ก หรือยูนิเลเวล) 2) แผนไบนารี่ 3) แผนไตรนารี่ 4) แผนสแตร์สเต็ปเบรกอะเวย์ 5) แมทชิ่งโบนัส และ 6) กองทุนต่างๆ

แผนเมทริกซ์ Matrix Plan หรือแผนเน็ตเวิร์ก Network Plan หรือยูนิเลเวล Unilevel Plan เป็นแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่เก่าแก่แผนหนึ่ง เป็นแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่จ่ายค่าตอบแทนเป็นจำนวนร้อยละของยอดขายหรือคะแนนในแต่ละชั้น ซึ่งจำกัดจำนวนชั้นที่จะจ่ายให้ลึกตามที่กำหนด หากไม่จำกัดจำนวนลูกทีมในชั้นที่หนึ่ง (หรือลูกทีมติดตัว หรือเรียกว่า Front line) เราเรียกว่า Unforced matrix คือเน็ตเวิร์กที่ไม่จำกัดจำนวนลูกทีมติดตัว (Front line) หรือที่เรียกว่า ยูนิเลเวล

แผนเมทริกซ์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจำกัดจำนวนลูกทีมติดตัว ที่เรียกว่า Forced Matrix เป็นแผนที่จ่ายค่าตอบแทนเป็นชั้นๆ โดยจำกัดจำนวนลูกทีมติดตัว หรือ Front line ตามจำนวนที่กำหนด เช่น มีลูกทีมติดตัวได้ไม่เกิน 5 คน เมื่อเราได้แนะนำผู้แทนจำหน่ายอิสระเข้ามาเป็นลูกทีมเราได้ครบ 5 คนแล้ว เมื่อแนะนำคนต่อไปก็จะไม่สามารถต่อติดตัวเราได้อีก ต้องนำไปต่อในชั้นที่ 2 ซึ่งก็จะเป็นลูกทีมของลูกทีมของเราอีกทีหนึ่ง เราเรียกลักษณะการต่อสายงานแบบนี้ว่า การล้นชั้น หรือ Spill over ตัวอย่างของแผนเมทริกซ์แบบ 5x10 ก็คือมีลูกทีมติดตัวได้สูงสุด 5 คนและมีรายได้ลึกลงไป 10 ชั้น

การ Roll-Up เป็นลักษณะการคำนวนอันหนึ่งของแผนเมทริกซ์ ซึ่งมีประโยชน์ในกรณีที่ลูกทีมบางคนไม่ทำงานหรือไม่ซื้อสินค้าให้มีคะแนนเพื่อรักษาคุณสมบัติในการรับคอมมิชชั่นหรือโบนัส (Commission Qualifying) อัพไลน์หรือแม่ทีมจะสูญเสียโอกาสในการได้รับคอมมิชชั่นจากลูกทีมคนนี้ เพราะเขาไม่ได้ซื้อสินค้า การโรลอัพนั้นเป็นการดึงเอาลูกทีมคนถัดลงไปในสายงานขึ้นมาให้อยู่ในชั้นเดียวกับลูกทีมที่ไม่ได้รักษายอด

จำนวนชั้นและเปอร์เซ็นต์ที่ผู้แทนจำหน่ายอิสระจะได้รับผลประโยชน์ตามแผนเมทริกซ์อาจเป็นแบบ ตายตัว หรือแบบปรับตามตำแหน่ง หรือปรับตามยอดคะแนน ก็ได้ ทั้งนี้การปรับจำนวนชั้นและเปอร์เซ็นต์ที่จ่ายตามตำแหน่งหรือตามยอดคะแนนที่ซื้อในรอบนั้น ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้แทนจำหน่ายอิสระทำงานให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากขึ้นไปด้วย

แผนไบนารี่ Binary Plan เป็นแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่ได้รับความนิยมมากแผนหนึ่ง มีโครงสร้างที่กำหนดให้ผู้แทนจำหน่ายอิสระมีลูกทีมติดได้ไม่เกิน 2 คน ดังนั้นหากผู้แทนจำหน่ายอิสระแนะนำสมาชิกใหม่คนที่ 3 เข้ามาก็จะต้องนำไปต่อให้กับลูกทีมคนใดคนหนึ่งในชั้นลึกลงไป จึงมีลักษณะ Spill Over ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้ลูกทีมมีสายงานเพิ่มขึ้นด้วย ลูกทีมที่ติดตัวทั้งสองคนนั้นคนหนึ่งอยู่ด้านซ้าย และอีกคนหนึ่งอยู่ด้านขวา บางครั้งจะเรียกว่าทีมซ้ายและทีมขวาก็ได้ โดยปกติการให้ค่าตอบแทนจะนับคะแนนทีมซ้ายและทีมขวามาจับคู่ในจำนวนที่เท่าๆกัน (หรือที่เรียกว่า Balanced Legs) แล้วคิดให้เป็นเปอร์เซ็นต์จากจำนวนคะแนน

การจ่ายค่าตอบแทนตามแผนไบนารี่นั้นมีลักษณะที่แบ่งออกได้เป็น แบบที่บังคับโครงสร้าง และแบบที่ไม่บังคับโครงสร้าง
แผนไบนารี่แบบบังคับโครงสร้างนั้นเป็นแบบที่กำหนดโครงสร้างลักษณะต่างๆไว้เมื่อผู้แทนจำหน่ายอิสระสามารถสร้างทีมงานได้ตามโครงสร้างที่กำหนดก็จะได้ค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ในแผน เช่น หากสามารถสร้างทีมงานให้ได้ในชั้นที่ 4 และมีจำนวนลูกทีมที่อยู่ในทีมซ้ายและทีมขวาทีมละ 2 คน จะได้ค่าตอบแทน 1000 บาทเป็นต้น แผนแบบนี้อาจจะมีการเก็บคะแนนไว้ให้ตามโครงสร้างที่ทำได้ และไม่มีการตัดทิ้งคะแนนที่ได้เก็บไว้ให้แล้ว

แผนไบนารี่แบบไม่บังคับโครงสร้าง เป็นแบบที่ไม่กำหนดโครงสร้างที่จำเป็นต้องทำให้ได้คุณสมบัติ หรือกำหนดไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แล้วให้มีการจับคู่หรือนับคะแนนที่เท่ากันของทีมซ้ายและทีมขวา โดยมีโควต้าให้ในแต่ละรอบการคำนวณจะนับคู่หรือนับคะแนนให้ได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในแผน คะแนนส่วนที่เกินในรอบการคำนวณนั้นๆ ก็จะถูกตัดทิ้งไป การตัดคะแนนทิ้งเรียกว่า Flush

แผนไบนารี่แบบ Weak – Strong เป็นแบบที่ไม่บังคับโครงสร้างเช่นกัน นับคะแนนจากทีมซ้ายและทีมขวา ทีมใดมีคะแนนมากกว่าในรอบการคำนวนนั้น ก็จะเรียกว่า ทีมแข็ง หรือ Strong Team และทีมใดที่มีคะแนนน้อยกว่าก็จะเรียกว่า Weak Team ในกรณีที่คะแนนเท่ากันทั้งสองทีมเราก็สามารถให้ทีมใดก็ได้เป็น Strong Team และ ทีมใดก็ได้เป็น Weak Team การจ่ายค่าตอบแทนก็จะจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายทีมอ่อน แล้วนำคะแนนทีมอ่อนมาหัก คะแนนทีมแข็งออกไป เก็บคะแนนส่วนที่เหลือของทีมแข็งไว้ให้ก็ได้

การคิดคะแนนในระบบการคำนวณแบบไบนารี่นั้นอาจคิดจากยอด PV ของแต่ละทีม คือคิดเป็น PV หรือจะคิดเป็นจำนวนผู้แทนจำหน่ายอิสระ (จำนวนรหัส) ที่ครบตามคุณสมบัติต่างๆที่กำหนดไว้ก็ได้

แผนไบนารี่อีกลักษณะหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากคือระบบ ที่มี Top-up หรือ Upgrade หรือที่เรียกว่าการเพิ่มจำนวนคู่หรือจำนวนคะแนนสูงสุดที่จะจับคู่ให้ได้ในแต่ละรอบการคำนวณ เช่นโดยปกติการคำนวณธรรมดาอาจจะคิดให้ 5 คู่ในแต่ละรอบการคำนวณ หากผู้แทนจำหน่ายอิสระซื้อสินค้าเพิ่มเพื่อขึ้นตำแหน่งก็จะมีสิทธิในการจับคู่ในแต่ละรอบการคำนวณเป็น 10 คู่ต่อรอบการคำนวณ เป็นต้น

แผนไตรนารี่ Trinary Plan เป็นแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นที่นิยมมากเช่นกัน โดยที่โครงสร้างขององค์กรผู้แทนจำหน่ายอิสระนั้นจะมีการจำกัดจำนวนลูกทีมที่ติดตัวไว้เพียง 3 คน คือผู้แทนจำหน่ายอิสระใดๆจะมีลูกทีมติดตัวได้ไม่เกิน 3 คน เมื่อได้แนะนำผู้แทนจำหน่ายอิสระใหม่เข้ามาเป็นคนที่ 4 ก็จะต้องนำไปต่อให้ลูกทีมชั้นลึกลงไป จึงมีลักษณะ Spill Over ซึ่งเป็นการช่วยเหลือลูกทีม ทำให้เกิดการทำงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน การต่อสายงานผู้แทนจำหน่ายอิสระซึ่งเป็นลูกทีมคนแรกซึ่งอยู่ทางซ้ายมือสุด เราเรียกว่า ลูกทีมด้านซ้าย ลูกทีมที่อยู่คนถัดมา ซึ่งอยู่ตรงกลาง เราเรียกว่า ลูกทีมตรงกลาง และลูกทีมคนสุดท้ายที่อยู่ทางขวามือสุด เราเรียกว่าลูกทีมด้านขวา

การคิดค่าตอบแทนตามแผนไตรนารี่นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันแผนไบนารี่มาก เพียงแต่มีจำนวนทีมงานมากกว่าเท่านั้น ซึ่งจะมีลักษณะเป็นการจับคู่ตามรอบการคำนวณ (Balanced Legs) การจับคู่อาจเป็น คู่สอง ซึ่งหมายถึงการจับกันระหว่างคะแนนที่ได้จากทีมใดๆสองทีม ซึ่งอาจเป็นทีมซ้ายจับกับทีมกลาง ทีมกลางจับกับทีมขวา หรือทีมขวาจับกับทีมซ้ายก็ได้ ลักษณะการจับคู่อีกอย่างหนึ่งคือการจับคู่สาม คือการนับคะแนนหรือจำนวนรหัสจากทั้งสามทีม แล้วเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดคะแนนที่ได้เพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับผู้แทนอิสระ

การคิดแผนไตรนารี่นั้นเป็นได้ทั้ง แบบบังคับโครงสร้าง และไม่บังคับโครงสร้าง รวมทั้งสามารถมีลักษณะที่เป็น Top-Up หรือ Upgrade ได้ด้วยเช่นกัน

สแตร์สเตป Stair-step หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า แผนขั้นบันได เป็นลักษณะการคิดค่าตอบแทนให้กับผู้แทนจำหน่ายอิสระเป็นเปอร์เซ็นต์จาก ยอดคะแนนซื้อส่วนตัวและ/หรือยอดกลุ่มส่วนตัว หรือคิดเปอร์เซ็นต์ให้ตามตำแหน่งของผู้แทนจำหน่าย ณ เวลาที่คำนวณนั้น เมื่อลูกทีมได้รับผลประโยชน์เป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดคะแนนแล้ว ผู้ที่เป็นแม่ทีมจะสามารถได้รับผลประโยชน์จากยอดคะแนนเดียวกันนั้นก็ต่อเมื่อแม่ทีมมีตำแหน่งสูงกว่าลูกทีม ตัวอย่างเช่น กำหนดให้ตำแหน่งมี 3 ตำแหน่งคือ Bronze, Silver, Gold และมีผลตอบแทนของแต่ละตำแหน่งเป็นเปอร์เซ็นต์คือ 10% 20% และ 30% ตามลำดับ โครงสร้างทีมผู้แทนจำหน่ายเป็นดังนี้ นาย ก. เป็นผู้แนะนำหรือเป็นผู้สปอนเซอร์ นางสาว ข. เข้ามาร่วมธุรกิจ และ นางสาว ข. เป็นผู้แนะนำหรือเป็นผู้สปอนเซอร์ นาย ค. เข้ามาร่วมธุรกิจ และ นาย ก. มีตำแหน่งเป็น Gold 30% นางสาว ข. มีตำแหน่งเป็น Silver 20% และนาย ค. มีตำแหน่งเป็น Bronze 10% หาก นาย ค. ซื้อสินค้ามีคะแนนในรอบการคำนวณนี้เป็น 1000 คะแนน นาย ค.จะได้เงินค่าตอบแทนเป็นเงิน 1000 คะแนน x 10% = 100 บาท และ นางสาว ข. จะได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน (1000 คะแนน x 20%) – (ค่าตอบแทนที่ได้จ่ายให้กับ นาย ค. ไปแล้ว 100 บาท) = 100 บาท และ นาย ก. จะได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน (1000 คะแนน x 30%) – (ค่าตอบแทนที่ได้จ่ายให้กับ นาย ค. และนางสาว ข. ไปแล้ว 200 บาท) = 100 บาท นับแล้วได้จ่ายเงินค่าตอบแทนเป็นจำนวน 30% ของยอดคะแนนของผู้แทนจำหน่าย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดที่จะจ่ายแล้ว ก็จะไม่ต้องจ่ายให้ให้ผู้แทนจำหน่ายใดๆอีกต่อไปในสายงาน เราอาจเรียกแผนแบบนี้ตามลักษณะการคำนวณได้ว่าเป็นการจ่ายตามผลต่างของเปอร์เซ็นต์ตามตำแหน่ง หากผลต่างของเปอร์เซ็นต์ตามตำแหน่ง แม่ทีม – ลูกทีม มีค่าเป็น 0 หรือ ค่าลบ ก็จะไม่จ่ายค่าตอบแทนให้กับแม่ทีมคนนั้น ซึ่งก็หมายความว่าแม่ทีมนั้นมีตำแหน่งน้อยกว่าหรือเท่ากับลูกทีม กรณีที่ตำแหน่งหรือเปอร์เซ็นต์ของลูกทีมมากกว่าหรือเท่ากับแม่ทีมเรียกกันทั่วไปว่า ตำแหน่งชนกัน

การคิดผลต่างของเปอร์เซ็นต์หรือผลประโยชน์ที่ผู้แทนจำหน่ายจะได้รับนั้นมีวิธีคิดผลต่าง % ตามตำแหน่ง หรือ ผลต่าง % ตามยอดคะแนนของกลุ่ม ก็ได้

แผนเบรกอะเวย์ Breakaway หรือที่เรียกกันติดปากจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของแผน Stair-step ไปแล้วนั้นแท้จริงเป็นแผน Unilevel ประเภทหนึ่ง ซึ่งคิดว่าผู้ที่มีคุณสมบัติครบคือผู้แทนจำหน่ายอิสระที่ได้ตำแหน่งสูงสุดในตารางของแผน Stair-step แล้วเท่านั้นจึงจะมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนจากแผน breakaway นี้ โดยอาจคิดให้เป็นชั้นลึกจำกัดอาจจะเป็น 2-3 ชั้นแล้วแต่ความเหมาะสม

แผนแมทชิ่งโบนัส แท้จริงก็สามารถคิดเป็น Unilevel ชนิดหนึ่งซึ่งคะแนนที่ได้นั้นคิดจากรายได้ของลูกทีมเพื่อนำมาคิดเปอร์เซ็นต์เป็นชั้นให้กับแม่ทีมลักษณะเดียวกับ Unilevel นั่งเอง เป็นการคิดค่าตอบแทนให้แม่ทีมที่ได้ช่วยเหลือลูกทีมให้มีรายได้ ซึ่งก็จะสนับสนุนให้แม่ทีมมียอดขายมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน คือเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน

กองทุน Pool เป็นการคิดเปอร์เซ็นต์ของคะแนนจากยอดขายโดยรวมทั้งบริษัท แล้วนำมาแบ่งให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติครบโดยการหารเท่ากัน หรือจะหารเป็นสัดส่วนของยอดที่ทำได้ก็ได้ การให้กองทุนนั้นเป็นการทำให้ผู้ที่ได้ทำงานให้กับองค์กรมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรระยะหนึ่งและได้สร้างผลงานให้กับองค์กรได้มากเพียงพอจำนวนหนึ่งก็จะมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าตอบแทนจากกองทุน ในลักษณะที่เป็นการเกษียร หรือเป็นบำนาญ ก็ได้ หรือจะเป็นกองทุนเพื่อซื้อบ้าน รถยนต์ หรือกองทุนการศึกษาก็ได้ เป็นลักษณะการจ่ายค่าตอบแทนทางลึกอีกทางหนึ่ง

ระบบการตลาด MLM

ระบบการตลาด MLM เป็นกลไกทางการตลาดที่อาศัยกลไกของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Laissez-Faire หรือ Capitalism) ซึ่งเป็นระบบที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชน ในการประกอบธุรกิจ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ปัจจัยการผลิต สามารถเลือกอุปโภคบริโภคสินค้า และบริการต่างๆได้อย่างเสรี ใช้ระบบการแข่งขันอย่างเสรี ใช้กลไกตลาดในการกำหนดราคา และจัดสรรทรัพยากรต่าง โดยภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม


ในระบบทุนนิยมนั้นจะอาศัยกลไกตลาดในการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค โดยเริ่มจากผู้ผลิตจัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้า ดำเนินการผลิตสินค้า และบรรจุหีบห่อพร้อมสำหรับการจัดส่ง การขายสินค้านั้นจำเป็นต้องสื่อสารให้ผู้บริโภครู้จักสินค้านั้นและเลือกซื้อสินค้านั้นไปใช้ ดังนั้นการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคจึงเกี่ยวข้องกับการตลาด การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การกระจายสินค้า การหาตัวแทนจำหน่าย การจัดจำหน่ายไปตามช่องทางที่ผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงและซื้อสินค้านั้นได้สะดวก การตลาดแบบปกติผู้จัดจำหน่ายจะการกระจายสินค้าโดยอาศัยผู้ค้าส่ง และกระจายสินค้าต่อไปยังผู้ค้าปลีก และผู้บริโภคก็จะมาซื้อสินค้าจากผู้ค้าปลีกไปอีกต่อหนึ่ง


ผลกำไรจากการขายสินค้านั้นจะแบ่งให้กับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก เป็นทอดๆตามสัดส่วนที่เหมาะสม และในบางครั้งยังแบ่งคืนให้กับผู้บริโภคที่ซื้อจำนวนมากๆในรูปของส่วนลดได้อีกด้วย


ระบบ MLM ใช้สมาชิกเข้ามามีบทบาทในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การหาตัวแทนจำหน่าย การกระจายสินค้า การจัดส่ง รวมถึงการเป็นผู้บริโภคเองด้วย แต่ละส่วนก็จะได้รับผลประโยชน์จากค่าตอบแทนต่างๆ ตามแผนการจ่ายค่าตอบแทน (หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า แผนการตลาด) เนื่องจากการให้ผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ต่างๆในระบบ MLM นั้นเป็นการจ่ายค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับสมาชิก MLM โดยตรง หัวใจของระบบ MLM อยู่ที่หลักการในการจ่ายค่าตอบแทนที่จ่ายจากผลงานของในการทำงานของเราเอง และจากผลงานของสมาชิกที่เราแนะนำเข้ามาสู่ระบบด้วย ทำให้รายได้ของสมาชิก MLM สูงมากและไม่มีขีดจำกัด เมื่อเทียบกับการทำหน้าที่คล้ายๆกันในระบบการตลาดแบบค้าส่งแล้ว ระบบ MLM สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกได้สูงกว่ามาก จึงเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้บริษัทต่างๆ รวมทั้งผู้บริโภคต่าง หันมาสนใจระบบ MLM กันเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ


ระบบการตลาด MLM มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการ สินค้า แผนการจ่ายค่าตอบแทน เครือข่ายผู้จำหน่ายอิสระ และผู้บริโภค
ผู้ประกอบการ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเริ่มต้นระบบ MLM ผู้ประกอบการอาจเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลก็ได้ในกรณีเริ่มต้นธุรกิจ โดยปกติผู้ประกอบการ MLM จะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเป็นส่วนใหญ่ การประกอบธุรกิจขายตรงนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการเริ่มต้นนั้นบริษัท MLM อาจจะประกอบด้วย ผู้บริหาร คณะกรรมการ ฝ่ายบัญชี/การเงิน ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายการตลาด(เครือข่าย) บริษัท MLM ใหญ่ๆอาจมีแผนกมากกว่านี้ก็ได้ หน้าที่หลักที่จำเป็นต่อการทำงานในระบบ MLM คือการบริหารงาน การจัดหาสินค้าและการส่งสินค้า การคำนวณและการจ่ายค่าตอบแทน และการขยายสายงานสมาชิก ในการเริ่มต้นฝ่ายต่างๆของบริษัท MLM อาจทำหน้าที่หลายอย่างเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณก็ได้ ผู้บริหารเป็นหัวใจสำคัญของบริษัท MLM ผู้บริหารจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าในการบริหารงานระบบ MLM ซึ่งเป็นระบบที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และมีความละเอียดอ่อนกว่าระบบการตลาดแบบอื่นๆ เนื่องจากมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องในระบบเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสมาชิกของบริษัท หรือผู้จำหน่ายอิสระ จำเป็นต้องเข้าใจหลักการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างดี สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มผู้จำหน่ายอิสระที่เป็นผู้นำ (หรือที่เรียกกันติดปากว่า แม่ทีม)


สินค้า เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับระบบ MLM สินค้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ตัดสินว่าระบบ MLM ใดเป็นระบบขายตรงหลายชั้นที่ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ หากเรานำสินค้าที่ราคาถูกมากๆมาขายในระบบ MLM ในราคาที่แพงมากๆแล้วระบบ MLM ก็จะเป็นระบบที่ไม่ถูกต้อง หรือเข้าข่ายระบบลูกโซ่ หรือปิระมิด สินค้าในระบบ MLM นั้นสามารถเป็นไปได้หลากหลายตั้งแต่อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค ไปจนถึงการบริการต่างๆ สินค้าที่ได้รับความนิยมกันมากในระบบ MLM คือเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แม้จะไม่มีข้อกำหนดหรือข้อจำกัดใดเกี่ยวกับสินค้าที่ขายในระบบ MLM ควรเป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษหรือมีลักษณะที่แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกัน หากสินค้าเป็นสินค้าที่คุณภาพดีเป็นสินค้าที่ขายได้ด้วยตัวมันเอง ก็จะช่วยให้ระบบ MLM สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้บริโภคจะซื้อใช้ซ้ำๆ นอกจากนั้นหากเข้ามาเป็นผู้จำหน่ายอิสระก็จะสามารถสร้างรายได้ให้ด้วย สินค้าใหม่ซึ่งยังไม่เคยมีในตลาดมาก่อน หรือสินค้านวัตกรรมนั้นเป็นสินค้าที่สามารถทำการตลาดในระบบ MLM ได้เป็นอย่างดี ระบบ MLM ใช้เป็นระบบในการแนะนำสินค้าเข้าสู่ตลาดอย่างได้เป็นอย่างดี และยังลดความเสี่ยงในการลงทุนโฆษณาสินค้าซึ่งเป็นการลงทุนที่สูง สินค้าที่เป็นสินค้ามีลิขสิทธิ์และมีสิทธิบัตรเป็นสินค้าที่ได้เปรียบในการป้องกันคู่แข่งเข้าสู่ตลาดได้ ก็เป็นสินค้าที่ใช้ระบบ MLM ได้เป็นอย่างดี


แผนการจ่ายค่าตอบแทน หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า แผนการตลาด เป็นวิธีการในการคิดค่าตอบแทนแก่สมาชิกหรือผู้จำหน่ายอิสระของบริษัท MLM จากการขายสินค้า การแนะนำสินค้า การหาสมาชิกเข้ามาร่วมธุรกิจ และการซื้อบริโภคเอง แผนการจ่ายค่าตอบแทนนั้นแบ่งได้หลายแบบเช่น ไบนารี่ ไตรนารี่ (ไตรนารี่ ซึ่งหมายความว่าเป็นเครือข่ายที่สามารถมีลูกทีมติดตัวได้ไม่เกิน 3 คน) สแตร์สเตป ยูนิเลเวล โบนัสแมทชิ่ง พูล และอื่นๆอีกมาก ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป แผนการจ่ายค่าตอบแทนเหล่านี้ต้องสามารถจ่ายได้จริง และเป็นไปได้ ซึ่งก็หมายความว่าเมื่อคำนวณค่าตอบแทนให้กับสมาชิก MLM ทุกคนแล้ว จำนวนเงินที่จ่ายจริงไม่เกินจำนวนคะแนนทั้งหมดของระบบ หรือพูดง่ายว่ารายจ่ายที่จ่ายค่าตอบแทนให้ผู้จำหน่ายอิสระจะต้องไม่เกินรายรับของบริษัท หรือคะแนนที่กำหนด หรือรายจ่ายที่จ่ายค่าตอบแทนคิดเป็นจำนวนร้อยละที่จำกัด (คงที่) ต่อรายได้ที่บริษัทรับเข้ามา เมื่อจำนวนสมาชิกและยอดการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ต้องไม่ Over pay แผนการจ่ายค่าตอบแทนที่ดีนั้นควรมีลักษณะคือ มีรายได้จากทางความกว้าง มีรายได้จากทางลึก และมีรายได้จากโปรโมชั่นพิเศษอื่นๆอีก รายได้จากทางกว้างจะเป็นส่วนที่ช่วยผู้จำหน่ายอิสระที่ขยันสร้างรายได้จากการทำงานส่วนตัวที่เก่ง ส่วนรายได้จากทางลึกนั้นเป็นส่วนที่สนับสนุนให้สมาชิกนั้นไปช่วยสายงานของตนที่อยู่ลึกลงไปอีกเพราะเข้าจะได้รายได้ตอบแทนจากการช่วยลูกทีมในทางลึก และรายได้จากโปรโมชั่นพิเศษนั้นเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้สมาชิกโดยรวมให้มุ่งมั่นทำงานให้เข้าหลักเกณฑ์ในการได้รับรางวัลพิเศษนั้น

เครือข่ายผู้จำหน่ายอิสระ เป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้ระบบ MLM มีแรงดึงดูดมหาศาล และมีเสน่ห์มากกว่าระบบการตลาดแบบอื่นๆ การขยายตัวของกลุ่มผู้จำหน่ายอิสระโดยการแนะนำ ฝึกฝน อบรม ฝึกสอนวิธีการชักจูง เทคนิคการขาย การนำเสนอที่จูงใจ การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ และหลักจิตวิทยาอื่นๆที่ช่วยให้ผุ้จำหน่ายอิสระสามารถชักชวนผู้บริโภคต่างๆให้หันเข้ามาทำหน้าที่ผู้จำหน่ายอิสระด้วยนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเติบโตของเครือข่ายอย่างมหาศาล ประกอบเข้ากับแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่ยั่งยืน เป็นธรรม เหมาะสมแล้วจะทำให้การตลาดระบบ MLM นี้ไร้เทียมทานเลยทีเดียว เพราะเป็นการแบ่งปันรายได้ ความรู้ในการทำงาน และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี การช่วยเหลือกันก่อให้เกิดพลังมหาศาล ทำให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว


ผู้บริโภค เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นที่สุด หากไม่มีผู้บริโภคแล้วระบบการตลาดใดๆก็จะสิ้นสุดลงทันที ดังนั้นผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดว่าการขายนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะมีผู้สนใจซื้อสินค้านั้นสักเท่าใด การที่บริษัท MLM ต้องหยุดกิจการไปสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้านั้นเอง


ที่มา:soodyodshop

MLM คืออะไร และประวัติ


Multi-level Marketing การตลาดแบบขายตรงหลายชั้น
MLM คืออะไร
การตลาดขายตรงหลายชั้น Multi-level Marketing หรือที่เรียกกันว่าการตลาดแบบเครือข่าย Network Marketing นั้นเป็นหลักการตลาดที่ให้ผู้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค โดยผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆนั้นจะได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมที่ทำ เช่นแนะนำสินค้า การให้ผู้บริโภครายอื่นๆเข้ามาร่วมเป็นผู้จำหน่ายสินค้า โดยแบ่งเป็นผลตอบแทนจากการทำธุรกิจเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละแบบแผน ดังนั้นหน้าที่หลักในกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคตั้งแต่ การโฆษณาสินค้า หาตัวแทนจำหน่าย จัดจำหน่าย การขาย ขนส่งไปจนถึงผู้บริโภค จะมีผู้ร่วมธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก โดยทำหน้าที่ต่างๆกันไป ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางการตลาดที่มีศักยภาพสูงมากและมีความรวดเร็วในการกระจายสินค้าสูง และเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนในการเริ่มต้นที่ต่ำอย่างไม่เคยมีมาก่อน



ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของ MLM

การขายตรงนั้นสามารถย้อนกลับไปยาวนานพอๆกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ก่อนจะมีการใช้เงินมนุษย์เราแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันโดยตรง อย่างไรก็ดีการขายในลักษณะขายตรงที่เป็นแม่แบบของการขายตรงยุคปัจจุบันนี้เริ่มมาประมาณปี 1740 โดยสองพี่น้อง Edward และ William Pattison ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้จากตะกั่ว ได้ทำการเร่ขายสินค้าไปตามบ้าน (ในลักษณะการขายตรง) โดยจะเดินทางในรถลากเล็กๆบรรทุกสินค้าไปขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเรียกว่า Yankee Peddler


ในปี 1868 เกิดบริษัทขายตรงที่ขายสินค้าเครื่องเทศตามบ้านและสินค้าอาหาร ชื่อ Watkins Company
ปี 1855 บริษัท Southwestern Publishing Company ตั้งขึ้นเพื่อผลิตหนังสือและคัมภีร์ไบเบิล และในปี 1868 บริษัท ปรับปรุงบริษัทให้เป็นบริษัทขายตรง โดยให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นตัวแทนขาย
ปี1886 บริษัท Avon เริ่มต้นบริษัทแบบขายตรง โดย David McConnel เขาได้เริ่มด้วยการขายคัมภีร์ไบเบิลและแถมตัวอย่างน้ำหอมไปตามบ้าน น้ำหอมที่แถมนั้นปรากฏว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก จนเขาได้ก่อตั้งบริษัท California Perfume Company ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นชื่อ Avon ในปี 1939 จนกลายเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ New York Stock Exchange และได้พัฒนาแผนการจ่ายผลตอบแทนให้เป็น MLM ให้ที่สุด
ระบบการขายตรงสมัยใหม่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อปี 1906 โดย Alfred Fuller ซึ่งอยู่ที่เมือง New Britain ในมลรัฐ Colorado ได้ก่อตั้งบริษัท Fuller Brush Company ซึ่งเริ่มทำการขายตรงแบบ Door-to-door ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มรูปแบบการขายตรงสมัยใหม่ ภายหลังบริษัทได้ปรับปรุงแผนการตลาดของตนให้เป็นแบบ MLM แต่ก็ไม่ประสบความสพเร็จมากนัก เพราะเหล่าสมาชิกต่างมีความเป็นนักขาย (Salespeople) มากกว่าเป็นนักขยายเครือข่าย (Recruiters)


อย่างไรก็ดีก่อนปี 1950 การขายตรงส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะ Party Plan คือการตลาดผลิตภัณฑ์โดยการจัดแสดงและเป็นเจ้าภาพในงานปาร์ตี้หรืองานทางสังคมต่างๆ โดยใช้งานสังคมต่างๆนั้นเป็นจุดแสดงและสาธิตสินค้า โดยให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้เห็นการสาธิตสินค้าและการทดลองสินค้าจริง แล้วก็รับรายการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าโดยตรง เพื่อจัดส่งสินค้าให้ต่อไป


ในปี 1950 เป็นยุคที่การตลาดแบบขายตรงหลายชั้นหรือการตลาดแบบเครือข่ายถือกำเนิดอย่างแท้จริง เป็นยุคที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการ MLM มากมายได้ถือกำเนิดขึ้น บริษัทเหล่านี้คือ Tupperware, Shaklee, Amway และ Mary Kay
ในปี 1945 Earl Tupper เป็นผู้บุกเบิกสินค้าที่ทำจากพลาสติกที่อ่อนตัว น้ำหนักเบา ไม่แตกหักง่าย และสามารถปิดผนึกได้อย่างมิดชิด เริ่มทำตลาดโดยการขายส่งปกติ แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ในปี 1951 เขาได้เปลี่ยนมาใช้แผน Party Plan โดยการสาธิตสินค้าตามงานปาร์ตี้ และขายสินค้าแบบขายตรง และประสบความสำเร็จอย่างสูง


ในปี 1956 Dr. Forrest Shaklee ผู้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสารอาหาร ทำงานร่วมกับ Casimur Funk ผู้ที่ค้นพบวิตามิน ได้ก่อตั้งบริษัท Shaklee ซึ่งเป็นผู้แนะนำวิตามินเข้าไปสู่อเมริกา และได้ก่อตั้งระบบขายตรงหลายชั้นขึ้น บริษัท Shaklee เป็นยักษ์ใหญ่ของวงการวิตามินและอาหารเสริม
ในปี 1959 Rich Devos และ Jay Van Andel ได้ก่อตั้งบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายโดยใช้รูปแบบ MLM หรือการตลาดขายตรงหลายชั้น ซึ่งต่อมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน MLM ที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมาก มียอดขายทั่วโลกกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีตัวแทนจำหน่ายอิสระเป็นล้านคนทั่วโลก ปัจจุบัน Amway ถือเป็นบริษัท MLM ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในโลก


ในปี 1963 Mary Kay Ash ซึ่งเป็นนักขายตรงจากบริษัท Stanley Home Product และบริษัทขายตรงอีกหลายบริษัท ได้ก่อตั้งบริษัท Mary Kay ซึ่งเป็นบริษัทของผู้หญิงบริษัทแรกๆของโลก Mary Kay ขายสินค้าเครื่องสำอาง ซึ่งต่อมาให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์


ในปี 1975 Federal Trade Commission ของสหรัฐฯ หรือ FTC ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคและคุ้มครองการแข่งขันอย่างเสรี ได้ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล กล่าวหาว่า Amway ประกอบธุรกิจแบบปิระมิดที่ผิดกฎหมาย แต่หลังจากต่อสู้กันในศาลนานถึง 4 ปี ในปี 1979 ศาลสหรัฐฯ ก็ได้ตัดสินให้ Amway ชนะคดี โดยศาลได้ตัดสินให้ แผนการจ่ายค่าตอบแทนของ Amway ซึ่งเป็นการตลาดขายตรงหลายชั้นเป็นแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่ถูกกฎหมาย ไม่ได้เป็นแบบปิระมิดซึ่งเป็นแบบที่ผิดกฎหมายสหรัฐฯ คดีดังกล่าวถึงเป็นกรณีตัวอย่างที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขายตรงอย่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลยที่เดียว หาก Amway แพ้คดีนี้ ธุรกิจ MLM ในโลกนี้อาจไม่เกิดและเจริญเติบได้อย่างทุกวันนี้ การชนะคดีของ Amway เป็นการนำทางให้บริษัท MLM ติดตามมาอีกเป็นจำนวนมาก และแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆทั่วโลก


ปัจจุบันเป็นยุคที่ MLM ได้รับการยอมรับมากขึ้นมีบริษัทจำนวนมากหันมาใช้การตลาดแบบ MLM ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพมากสามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีรายได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันก็มีบริษัทที่นำวิธีการทางการตลาดแบบ MLM ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ได้มีการแพร่ระบาดของระบบที่เรียกว่า Pyramids หรือปิระมิด หรือการตลาดลักษณะที่เป็นแบบลูกโซ่ มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะที่หลอกลวงผู้บริโภคโดยการรับสมัครคนเข้ามาสู่ระบบ และเสียเงินเพื่อการสมัคร มากกว่าการขายสินค้า ซึ่งในบางครั้งจะทำให้เป็นระบบที่เรียกว่า การเล่นเงิน Money game ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค


แนวโน้ม MLM ในอนาคตจะเป็นระบบที่สามารถกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคอย่างยุติธรรม และมีการพัฒนาไปสู่ระบบ MLM ที่สมบูรณ์ คือมีทั้ง ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า และผู้บริโภคอยู่ในระบบเดียวกัน สามารถสลับหน้าที่กันได้อย่างสมบูรณ์และยุติธรรม ซึ่งจะได้กล่าวอย่างละเอียดในบทต่อๆไป







ที่มา: soodyodshop